ภาพรวมหลักสูตร
หลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตเปิดสอนมาตั้งแต่พ.ศ. 2541 มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตดุษฎีบัณฑิตที่มีความรู้ทางนิติศาสตร์เฉพาะด้านอย่างลึกซึ้ง สามารถค้นคว้าวิจัยและสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้ด้วยตนเองเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้เจริญก้าวหน้า ดังนั้น หลักสูตรนี้จึงมุ่งเน้นให้ผู้เรียนศึกษาวิจัยประเด็นปัญหาทางกฎหมายในเชิงลึกตามที่ผู้เรียนสนใจภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของอาจารย์ที่ปรึกษาและคณะกรรมการบริหารหลักสูตร นอกจากนี้ ผู้เรียนยังจะได้รับความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับหัวข้อที่สนใจโดยตรง
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ที่เข้าศึกษาในหลักสูตรได้ศึกษาค้นคว้าวิจัยประเด็นปัญหาทางกฎหมายหลากหลายสาขาทั้งกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศ วิทยานิพนธ์แต่ละเล่มล้วนได้รับการชี้แนะและกลั่นกรองจากคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ทั้งจากภายในและนอกมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นหลักประกันว่างานค้นคว้าวิจัยมีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ จนถึงปัจจุบัน หลักสูตรได้ผลิตดุษฎีบัณฑิตไปรับใช้สังคมในสาขาวิชาชีพต่างๆ เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้พิพากษา ตลอดจนนักกฎหมายในองค์กรภาครัฐและเอกชน
โครงสร้างหลักสูตร
การศึกษาในหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตมีระยะเวลาการศึกษาไม่เกิน 6 ปีการศึกษา จำนวนหน่วยกิตรวม 48 หน่วยกิต รายวิชาที่ต้องลงทะเบียนมี 6 รายวิชา ประกอบด้วย
รายวิชาที่นับหน่วยกิต
- วิทยานิพนธ์ 48 หน่วยกิต
รายวิชาที่ไม่นับหน่วยกิต แต่มีการประเมินผล S/U
- ภาษาอังกฤษเพื่อการวิจัยทางกฎหมายระดับดุษฎีบัณฑิต
- ระเบียบวิธีวิจัยทางนิติศาสตร์ขั้นสูง
- สัมมนาทางนิติศาสตร์
- การสอบวัดคุณสมบัติ
- สัมมนาวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิต
การจัดการเรียนการสอน
หลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาค แบ่งออกเป็น
- ภาคต้น ตั้งแต่เดือนสิงหาคมจนถึงเดือนธันวาคม
- ภาคปลาย ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤษภาคม
ในปีการศึกษาที่ 1 นิสิตต้องลงทะเบียนและเข้าเรียน 3 รายวิชา ดังนี้
- ภาษาอังกฤษเพื่อการวิจัยทางกฎหมายระดับดุษฎีบัณฑิต
- ระเบียบวิธีวิจัยทางนิติศาสตร์ขั้นสูง
- สัมมนาทางนิติศาสตร์
การรับสมัครและคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษา
คุณสมบัติผู้สมัคร
1. สำเร็จการศึกษานิติศาสตรมหาบัณฑิตจากสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้การรับรอง
2. ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง
3. มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4. มีผลสอบภาษาอังกฤษ โดยมีคะแนน CU-TEP ตั้งแต่ 45 ขึ้นไป หรือ TOEFL ตั้งแต่ 450 ขึ้นไป (หรือเทียบเท่า) หรือ IELTS ตั้งแต่ 4.0 ขึ้นไป ทั้งนี้ ผลคะแนนต้องมีอายุไม่เกิน 2 ปี นับจากวันรายงานผลคะแนนการทดสอบจนถึงวันปิดรับสมัคร (เว้นแต่เป็นผู้ที่อาจได้รับยกเว้นคะแนนทดสอบความรู้ภาษาอังกฤษตามประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง เกณฑ์คะแนนทดสอบความรู้ความสามารถทางภาษาอังกฤษสำหรับผู้เข้าศึกษาในหลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต และหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต พ.ศ. 2557 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2558)
ช่วงเวลารับสมัคร
เปิดรับสมัครปีการศึกษาละ 2 ครั้งดังนี้
- ภาคการศึกษาต้น (ประมาณเดือนมกราคม – พฤษภาคม)
- ภาคการศึกษาปลาย (ประมาณเดือนกันยายน – ตุลาคม)
- ค่าธรรมเนียมการสมัคร 2,500 บาท
วิธีการคัดเลือก
สัมภาษณ์
(รายละเอียดแจ้งในประกาศผลผู้มีสิทธิเข้าสัมภาษณ์)
จำนวนที่คาดว่าจะรับ ภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2567
จำนวน 10 คน
ข้อแนะนำสำหรับผู้สนใจสมัครเข้าศึกษา
- ผู้สมัครต้องเตรียมข้อเสนอวิทยานิพนธ์ (Thesis proposal) ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยประเด็นปัญหาที่ต้องการศึกษา วิธีการศึกษา และวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
- ผู้สมัครต้องมีงานเขียนทางวิชาการ ซึ่งอาจเป็นวิทยานิพนธ์ เอกัตศึกษา บทความ หรืองานวิชาการอื่นที่มีประเด็นทางกฎหมายที่ชัดเจน แสดงวิธีการศึกษา การวิเคราะห์ และมีการอ้างอิงอย่างถูกต้อง
ค่าธรรมเนียมการศึกษา
- ค่าเล่าเรียน (ตามประกาศจุฬาฯ เรื่อง อัตราการเรียกเก็บค่าเล่าเรียน พ.ศ. 2562)
- ค่าธรรมเนียมการศึกษา ภาคการศึกษาละ 22,000 บาท
ทุนอุดหนุนการศึกษา
- ทุนอุดหนุนการศึกษาและวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายละเอียดโปรดดู www.grad.chula.ac.th
- ทุนผู้ช่วยวิจัยอาจารย์ของคณะนิติศาสตร์ สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต
บุคลากรประจำหลักสูตร
ผู้อำนวยการหลักสูตร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โชติกา วิทยาวรากุล
เจ้าหน้าที่หลักสูตร
นางสาวธนภร สวัสดิมงคล
ติดต่อหน่วยงาน
หลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต
อีเมล lld@law.chula.ac.th
โทร. 095-367-6123
หรือ 02218-2075 (กรณีคณะนิติศาสตร์เปิดทำการ)
ข้อมูลนิสิตเก่า
ดร.ไกรพล อรัญรัตน์
ผู้พิพากษาศาลแพ่ง
ดร.ยุทธนา สุวรรณประดิษฐ์
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการกำกับดูแลฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายกำกับการปฏิบัติงาน และฝ่ายบริหารความเสี่ยง
Professor Dr.Ximei Zhou
Professor of Guangxi University for Nationalities