ผู้แต่ง : บุณยกร มุสิโก
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของเอกัตศึกษาเรื่องผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการซึ่งขายสินค้าออนไลน์ที่เกิดจากการรายงานข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ : ศึกษากรณีผู้มีเงินได้เป็นบุคคลธรรมดา
จากการที่ได้มีการออกกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายรัษฎากร พ.ศ.2562 มาตรา 3 ได้มีการกำหนดให้เพิ่มบทบัญญัติมาตรา 3 สัตตรส โดยให้ สถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายเป็นผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะในปีที่ล่วงมาเฉพาะที่อยู่ในความครอบครองต่อกรมสรรพากรภายในเดือนมีนาคมของทุกปี และธุรกรรมดังกล่าวก็จะต้องเป็นธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะตามที่กำหนดได้แก่ การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่สามพันครั้งขึ้นไป หรือ ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่สี่ร้อยครั้งและมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือ รับโอนเงินรวมกันตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไป จึงมีปัญหาว่า ประการแรกกฎหมายยังไม่ครอบคลุมกับเกณฑ์รายได้พึงประเมินที่จะต้องเสียภาษี ประการที่สอง อาจมีช่องว่างกฎหมายที่ทำให้ผู้ประกอบการซึ่งขายสินค้าออนไลน์ยังสามารถหลีกเลี่ยงภาษีได้ เช่น ถ้ากิจการหนึ่งมีหลายบัญชีและมีชื่อหลายคน ก็อาจทำให้ไม่เข้าหลักเกณฑ์การถูกรายงานข้อมูลทางธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะได้ หรือว่า ช่องทางการซื้อขายสินค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีการกำหนดรูปแบบกาชำระเงินที่ไม่ได้โอนเงินผ่านผู้ขายโดยตรง อย่างเช่น Shopee ที่เมื่อผู้ซื้อซื้อสินค้าเงินจะโอนไปยัง Shopee ก่อน แล้วผู้ขายสามารถอนเงินจาก Shopee เข้าบัญชีเงินฝากของตนเองได้เพียงสัปดาห์ละครั้งถ้าหากไม่ต้องการเสียค่าธรรมเนียม ซึ่งส่งผลต่อการนับจำนวนการฝากหรือรับโอนเงินได้ และปัญหาการรับรู้ว่าใครเป็นผู้ประกอบการ เพราะเพียงแต่การรายงานข้อมูลทางธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะเพียงอย่างเดียวก็ไม่อาจทราบได้ว่า ยอดธุรกรรมการฝากหรือรับโอนเงินใดเป็นเงินได้ที่ได้รับจากกการขายสินค้า
ด้วยเหตุนี้ การออกกฎหมายมาก็ไม่อาจนำมาเรียกเก็บภาษีเงินได้ของผู้ประกอบการซึ่งขายสินค้าออนไลน์ได้ลย และเมื่อผู้ประกอบการซึ่งขายสินค้าออนไลน์ก็ไม่ต้องนำเงินได้หรือรายได้ของตนจากการขายสินค้าออนไลน์ไปเสียภาษี ก็อาจจะไม่ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้ที่ลดลง จึงนำไปสู่ปัญหาที่ว่าที่ว่าการที่จะรายงานข้อมูลทางธุรกรรมลักษณะเฉพาะเพื่อเรียกเก็บภาษีสินค้าออนไลน์นั้นจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาหรือไม่?
การศึกษาในครั้งนี้ ผู้ศึกษามุ่งที่จะศึกษาในเชิงสำรวจได้ทำการศึกษาจากประชากร ซึ่งเป็นผู้ประกอบการซึ่งขายสินค้าออนไลน์ โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง โดยคำนวณสูตร จากสูตรการคำนวณของ Taro Yamane ที่เมื่อศึกษาสัดส่วนของประชากร ณ ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 และกำหนดค่าความคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้ไม่เกินร้อยละ 5 จะได้ว่าถ้าขนาดประชากรเป็นอนันต์ (∞) ต้องใช้แบบสอบถามที่จัดทำในรูปแบบของgoogle forms ให้กับกลุ่มตัวอย่าง เป็นจำนวนอย่างน้อย 400 ราย ซึ่งในการวิจัยครั้งนี้ ได้เก็บรวบรวมข้อมูล ในช่วงวันที่ 1 มีนาคม ถึง 17 มีนาคม 2565 ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 414 ราย แล้วนำข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยการใช้โปรแกรม spss
จากภาพที่ 1 ผู้ศึกษาได้ทำการศึกษาข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างของผู้ประกอบการทั้งหมด และศึกษานำข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการทั้งหมดมาค้นหาผู้ประกอบการที่เข้าหลักเกณฑ์การถูกรายงานข้อมูลทางธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ และทำการศึกษาข้อมูลของผู้ประกอบการที่เข้าหลักเกณฑ์การถูกรายงานข้อมูลทางธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ และจากข้อมูลของผู้ประกอบการที่เข้าหลักเกณฑ์การถูกรายงานข้อมูลทางธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะจะนำมาศึกษากับกรณีการได้รับหมายเรียกจากเจ้าพนักงานประเมิน โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้ ประเภทที่ 1 ผู้ประกอบการที่มีการเสียภาษีถูกต้องครบถ้วนและไม่ได้รับหมายเรียกจากเจ้าพนักงานประเมินภาษี, ประเภทที่ 2 ผู้ประกอบการที่ได้รับหมายเรียกจากเจ้าพนักงานประเมินภาษีเนื่องจากผู้ประกอบการไม่ยื่นแบบแสดงรายการ หรือยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้อง, ประเภทที่ 3 ผู้ประกอบการที่ไม่มีการเสียภาษี และไม่ได้รับหมายเรียกจากเจ้าพนักงานประเมินภาษี
โดยจากผลการศึกษาในส่วนที่ 1 ข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการทั้งหมด 414 คน (ภาพที่ 2)พบว่ากิจการส่วนใหญ่ไม่มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตามที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการซึ่งขายสินค้าออนไลน์จะต้องมีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และรายได้ของกลุ่มผู้ประกอบการส่วนใหญ่พบว่ามีมากกว่า120,000 บาท ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมีรายได้อยู่ในช่วง 120,000 บาท ถึง 1,200,000 บาทต่อปี แต่รายได้ของผู้ประกอบการกลุ่มนี้เป็นช่วงรายได้ที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์จำนวนเงินการฝากหรือรับโอนเงินตามมาตรา 3 สัตตรส ดังนั้น หลักเกณฑ์จำนวนเงินฝากหรือรับโอนเงินตามมาตรา 3 สัตตรส จึงยังไม่ครอบคลุมกับผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เมื่อนำข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการทั้งหมด 414 ราย มาพิจารณาเฉพาะข้อมูลจำนวนครั้งการซื้อขายสินค้า (ครั้ง/ปี) ควบคู่กับ ข้อมูลรายได้จากการขายสินค้าออนไลน์ประมาณ (บาท/ต่อปี) (ตารางที่ 1) พบว่ากรณีที่มีจำนวนครั้งของการซื้อขายสินค้า 400 – ไม่เกิน 3,000 ครั้งต่อปี และ มีรายได้จากการขายสินค้าออนไลน์ประมาณ 2,000,000บาทขึ้นไปต่อปี มีจำนวน 11 ราย และจำนวนครั้งของการซื้อขายสินค้า 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป มีจำนวน 36 รายดังนั้นมีจำนวนผู้ประกอบการที่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะถูกรายงานข้อมูลทางธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะจำนวนทั้งหมด 47 ราย หรือเพียงร้อยละ 11.35 (47 ราย) ของทั้งหมดหรือร้อยละ 16.49 ของผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เมื่อพิจารณาข้อมูลในส่วนที่ 2 ข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการที่เข้าหลักเกณฑ์การถูกรายงานข้อมูลทางธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ (ภาพที่ 3) พบว่าผู้ประกอบการที่เข้าหลักเกณฑ์การถูกรายงานข้อมูลทางธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะทุกรายนั้น ถือว่าเป็นผู้เข้าหลักเกณฑ์ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร แต่พบว่าในปีที่ผ่านมา พบว่าผู้ประกอบการที่ยื่นภาษีเงินได้จำนวนน้อยกว่าผู้ที่ไม่ยื่นภาษี และผู้ที่ไม่ยื่นภาษีนั้น เข้าใจว่าตนเองไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด หรือไม่ทราบว่าตนเองมีหน้าที่ต้องยื่นภาษี แสดงให้เห็นว่ายังมีผู้ประกอบการบางส่วนที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจว่าตนเองมีหน้าเสียภาษีตามกฎหมาย
นอกจากนี้ พบว่าถ้าพิจารณาการได้รับหมายเรียกจากเจ้าพนักงานประเมินของผู้ประกอบการที่เข้าหลักเกณฑ์การถูกรายงานข้อมูลทางธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ กับก่อนปีพ.ศ. 2562 มีจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับหมายเรียกมีจำนวนที่ไม่แตกต่างกัน จึงสรุปได้ว่าการออกกฎหมายไม่อาจทำให้เรียกเก็บภาษีแก่ผู้ประกอบการที่เข้าหลักเกณฑ์ได้จำนวนเพิ่มขึ้น
เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างผู้ที่เข้าหลักเกณฑ์และการได้รับการติดต่อจากกรมสรรพากรก่อนปี พ.ศ.2562 กับข้อมูลอื่น ๆ จากผลการวิจัยในส่วนที่ 3 พบว่า ก่อนที่มีการออกกฎหมายมาตรา 3 สัตตรสผู้ประกอบการที่เข้าหลักเกณฑ์กฎหมายการรายงานข้อมูลทางธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะจะได้รับการติดต่อจากเจ้าพนักงานประเมินภาษีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับตัวแปรต่าง ๆ ได้แก่ 1) รูปแบบกิจการ ผู้ประกอบการที่ได้รับการติดต่อจากเจ้าพนักงานประเมินภาษีส่วนใหญ่จะเป็นกิจการที่มีเจ้าของหลายคน (ภาพที่ 4) 2) การจดทะเบียน ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับการติดต่อจากเจ้าพนักงานประเมินภาษีส่วนใหญ่มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออาจมีการจดทะเบียนพาณิชย์หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม การจดทะเบียนจึงเป็นตัวแปรที่มีผลต่อการการได้รับการติดต่อจากกรมสรรพากรก่อนปี พ.ศ.2562 (ภาพที่ 5) 3) การมีหลักแหล่งของกิจการผู้ประกอบการมีโกดังหรือหน้าร้านจะได้รับการติดต่อจากเจ้าพนักงานประเมินภาษี ก่อนปี พ.ศ.2562 (ภาพที่ 6)
เมื่อเปรียบเทียบกรณีในปีที่ผ่านมาได้มีการยื่นภาษีกับได้รับหมายเรียกจากเจ้าพนักงานประเมิน (ตารางที่ 2) พบว่าในปีที่ผ่านมาได้ยื่นภาษีและรวมรายได้จากการขายสินค้าออนไลน์แล้ว และไม่ได้รับหมายเรียกจากเจ้าพนักงานประเมิน จำนวน 14 ราย และกรณีที่ยื่นภาษี ได้รับหมายเรียกจากเจ้าพนักงานประเมิน จำนวน 7 ราย และกรณีที่ไม่ยื่นภาษีและได้รับหมายเรียกจากเจ้าพนักงานประเมิน จำนวน 14 ราย ดังนั้นกรณีที่ได้รับหมายเรียกจากเจ้าพนักงานประเมิน มีทั้งหมด 21 ราย นอกจากนี้ กรณีที่ไม่ยื่นภาษี และไม่ได้รับการหมายเรียกจากเจ้าพนักงานประเมิน จำนวน 10 ราย
แสดงให้เห็นว่าการที่พนักงานประเมินภาษีออกหมายเรียกให้แก่ผู้ประกอบการไม่ได้ออกกหมายเรียกให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าหลักเกณฑ์การถูกรายงานข้อมูลทางธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะทุกราย จึงจะต้องมีการพิจารณาว่าตัวแปรใดบ้างที่มีผลต่อการได้รับหมายเรียกหรือไม่ได้รับหมายเรียกจากเจ้าพนักงานประเมินภาษีราย
จากผลการศึกษาในส่วนที่ 4 เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลผู้ประกอบการที่ได้รับหมายเรียกจากเจ้าพนักงานประเมินกับกรณีที่ผู้ประกอบการไม่ยื่นภาษีและไม่ได้รับหมายเรียกจากเจ้าพนักงานประเมิน พบว่าตัวแปรที่ทำให้ผู้ประกอบการที่เข้าหลักเกณฑ์การถูกรายงานข้อมูลทางธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะที่ไม่ยื่นภาษีหรือเสียภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วนจะได้รับหมายเรียกจากเจ้าพนักงานประเมินภาษีหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวแปรใด พบว่า ตัวแปรที่มีผลต่อการได้รับการประเมินภาษี (ภาพที่ 7) ได้แก่ 1) การจดทะเบียนพาณิชย์, 2) การมีหลักแหล่งของกิจการ, 3) ช่องทางหรือแพลตฟอร์มที่ใช้ในการซื้อขายสินค้า, 4) รูปแบบบัญชีธนาคาร, 5) การที่ช่วงก่อนปี พ.ศ.2562 ผู้ประกอบการได้รับการติดต่อจากเจ้าพนักงานประเมินภาษีหรือไม่ได้รับการติดต่อ 6) การที่ผู้ประกอบการเคยได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าหรือไม่เคยได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้า
ข้อค้นพบ
จากการศึกษาในครั้งนี้ทำให้พบว่ามีผู้ประกอบการที่ได้รับหมายเรียกจากเจ้าพนักงานประเมินเนื่องจากไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วน อันเนื่องมาจากการถูกรายงานข้อมูลทางธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งถือว่าได้ว่าเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการรายงานข้อมูลทางธุรกรรมทางธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะคิดเป็นร้อยละ 46.67 (21 ราย) จากจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด 47 ราย และคิดเป็น 5.07% ของผู้ประกอบการทั้งหมด 414 คน จึงสรุปได้ว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากการรายงานข้อมูลทางธุรกรรมทางธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ และตัวแปรที่ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการรายงานข้อมูลทางธุรกรรมทางธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ ได้แก่ 1) การจดทะเบียนพาณิชย์, 2) การมีหลักแหล่งของกิจการ, 3) ช่องทางหรือแพลตฟอร์มที่ใช้ในการซื้อขายสินค้า, 4) รูปแบบบัญชีธนาคาร, 5) การที่ช่วงก่อนปี พ.ศ.2562 ผู้ประกอบการได้รับการติดต่อจากเจ้าพนักงานประเมินภาษีหรือไม่ได้รับการติดต่อ 6) การที่ผู้ประกอบการเคยได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าหรือไม่เคยได้รับการ้องเรียนเกี่ยวกับสินค้า
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับหมายเรียกจากเจ้าพนักงานประเมินเนื่องจากไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วน แล้วส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการขายสินค้าด้วยการเพิ่มราคาสินค้าขึ้น เพื่อชดเชยภาษีที่เกิดขึ้น อันเนื่องมาจากการถูกรายงานข้อมูลทางธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ ร้อยละ 28.57 จากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจำนวน 21 คน และ คิดเป็นร้อยละ 1.45 จากผู้ประกอบการทั้งหมด 414 คน จึงสรุปได้ว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบต่อรายได้จากการรายงานข้อมูลทางธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ