ผู้แต่ง: ร้อยตำรวจเอกหญิง ภัทรานิษฐ์ ทิพย์สุวรรณ นิสิตหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากฎหมายการเงินและภาษีอากร

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของเอกัตศึกษาเรื่อง “ปัญหาการบังคับใช้มาตรา 37 และมาตรา 37 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร” 

บทบัญญัติความผิดเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีที่ในประเทศไทย
ที่ยังมีการกำหนดอัตราโทษและอายุความที่นำมาปรับใช้ที่ไม่เหมาะสมกับการกระทำความผิด
ในบางกรณี จึงทำให้บทบัญญัติที่นำมาใช้แก้ไขปัญหาการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษี
ของไทยนั้นไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ดี ผู้ศึกษามุ่งที่จะศึกษาปัญหาการบังคับใช้มาตรา 37 และมาตรา 37 ทวิ
แห่งประมวลรัษฎากร โดยพิจารณาจากองค์ประกอบของบทบัญญัติดังกล่าวเอง และเทียบกับมาตรการทางกฎหมายของในกรณีดังกล่าวตามประมวลรัษฎากรแห่งสหรัฐอเมริกาและประมวลรัษฎากรแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ดังต่อไปนี้

ตารางที่ 1 ตารางสรุปความแตกต่างขององค์ประกอบความผิดตามมาตรา 37 และมาตรา 37 ทวิ ประมวลรัษฎากร


จากตารางที่ 1 เมื่อพิจารณาความแตกต่างขององค์ประกอบความผิดตามมาตรา 37 และมาตรา 37 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรเห็นได้ว่า การกระทำความผิดทั้ง 2 มาตรานั้น ถือเป็นการกระทำผิดที่มีเจตนาเป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรเช่นเดียวกัน แต่โทษของการกระทำความผิดกลับมีอัตราโทษและอายุความที่แตกต่างกันออกไป และเมื่อศึกษามาตรการทางกฎหมายในกรณีดังกล่าวกับประมวลรัษฎากรแห่งสหรัฐอเมริกาและประมวลรัษฎากรแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ตามตารางที่ 2 กลับเห็นว่า มาตรการทางกฎหมายของทั้งสองประเทศได้มีการกำหนดสาระสำคัญและขอบเขตของมาตรการเอาไว้อย่างชัดเจน แต่เมื่อเทียบกับมาตรการทางกฎหมายของไทยแล้วเห็นว่า บทบัญญัติ
ในมาตรา 37 ได้มีการตราขึ้นโดยมีขอบเขตของการบังคับใช้ที่กว้างและยังมีความคลุมเครือซึ่งทำให้เกิดช่องว่างในการบังคับใช้ได้โดยง่าย 

ต่อมา ผู้ศึกษาได้ทำการสัมภาษณ์พนักงานสอบสวนเกี่ยวกับปัญหาในการดำเนินคดี ประกอบกับการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการดำเนินคดีความผิดตามมาตรา 37 และมาตรา 37 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 – 2564 พบว่ามีการดำเนินคดีจำนวนทั้งสิ้น 67 คดี 

แบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

ภาพที่ 3 ภาพแสดงปัญหาการดำเนินคดีความผิดตามมาตรา 37 และมาตรา 37 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 – 2564 จำนวน 67 คดี

ในส่วนของกลุ่ม การดำเนินคดีที่ไม่ตรงตามพฤติการณ์ดังกล่าว เนื่องด้วยบางคดีได้มีการดำเนินคดีตามมาตรา 37 ทวิ แล้ว ระหว่างการดำเนินคดีดังกล่าว คดีขาดอายุความ หรือขาดอายุความมาตั้งแต่ก่อนร้องทุกข์ดำเนินคดี จึงดำเนินคดีโดยใช้มาตรา 37 (2) แทน ทั้งที่ไม่มีพฤติการณ์อันเป็นองค์ประกอบความผิดในมาตราดังกล่าว จึงเกิดความไม่สม่ำเสมอในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดระหว่างสองมาตรานี้ ซึ่งความไม่สม่ำเสมอนั้น หมายถึง คดีซึ่งมีพฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดอย่างเดียวกัน แต่มีการร้องทุกข์ สั่งฟ้อง หรือใช้ดุลพินิจในการใช้ข้อกฎหมายเพื่อลงโทษกับผู้กระทำความผิดต่างกัน

 ภาพที่ 4 ภาพแสดงการสรุปข้อมูลการดำเนินคดีที่ไม่ตรงตามพฤติการณ์ ในการปรับใช้ตัวบทกฎหมาย
ระหว่างมาตรา 37(2) กับมาตรา 37 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

ผลการดำเนินคดีตามมาตรา 37 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 – 2564
มีจำนวนทั้งสิ้น 20 คดี ซึ่งส่วนใหญ่คดีขาดอายุความ จำนวน 19 คดี และคดีซึ่งความผิดในข้อหา
บางกรรมยังไม่ขาดอายุความ มีจำนวน 1 คดี เห็นได้ว่า เนื่องจากความผิดตามมาตรา  37 ทวิ
มีการระวางโทษ ทำให้มีอายุความในการดำเนินคดี 5 ปี แม้กรมสรรพากรจะได้มีระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2553 ว่าต้องดำเนินคดีอาญากรณีความผิดอาญาฐานเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้ ตามมาตรา 37 หรือมาตรา 37 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับความผิดก่อนคดีขาดอายุความ 3 ปี ก็ยังคงมีการดำเนินคดีไม่ทันเวลา และในปัจจุบันยังไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้

ภาพที่ 5 ภาพแสดงการสรุปข้อมูลผลการดำเนินคดีตามมาตรา 37 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร


ข้อค้นพบ

จากการศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินคดีตามมาตรา 37 ทวิ พบว่า คดีขาดอายุความแทบทั้งสิ้น และไม่สามารถนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ภายในอายุความ ซึ่งเกิดจากการกำหนดโทษที่ต่างกันระหว่างมาตรา 37 กับมาตรา 37 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ที่ส่งผลไปถึงเรื่องอายุความในการดำเนินคดีของทั้งสองมาตรา เมื่อมีอายุความที่ไม่เท่ากัน ผลคือ ในการดำเนินคดีความผิดตามมาตรา 37 ทวิ มีอายุความ 5 ปี ไม่สามารถดำเนินคดีได้ทัน จึงมีการใช้ช่องว่างของบทบัญญัติมาตรา 37(2) ซึ่งมีคำว่า “โดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน” แทน โดยให้การ “ไม่ยื่นรายการ” มาตรา 37 ทวิ ดำเนินคดีต่อไป เกิดความไม่สม่ำเสมอในการดำเนินคดี