คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการเสวนาทางวิชาการเวที ฬ.จุฬา กฎหมายเพื่อประชาชน เรื่อง “เหลียวหน้า – แลหลัง กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” เมื่อวันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา

การเสวนาทางวิชาการในครั้งนี้ จัดขึ้น ณ ห้องศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ชั้น 5 อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวลา 10.00 – 12.00 น.

ซึ่งได้รับเกียรติจากท่านวิทยากร โดย

  • ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์
    ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด และ ศาสตราจารย์พิเศษประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ศาสตราจารย์ ดร.ศุภลักษณ์ พินิจภูวดล
    คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และดำเนินรายการโดย

  • อาจารย์วิมพัทธ์ ราชประดิษฐ์
    อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภลักษณ์ พินิจภูวดล ได้กล่าวถึง เหตุผลที่ต้องมีการตรากฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ โดยพิจารณาโดยการ แลหลัง ตามกฎหมายภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือนและที่ดิน โดยท่านอาจารย์คาดหวังว่า กฎหมายใหม่นี้ควรมีการใช้ดุลพินิจโดยเจ้าหน้าที่ที่น้อยลงจากกฎหมายเดิม มีอัตราภาษีที่ไม่สูง มีอนุบัญญัติและสาระสำคัญที่ชัดเจน และมีการจัดเก็บภาษีโดยมีความแตกต่างกันในทรัพย์สินตามการใช้ประโยชน์ เช่น ใช้เพื่อการเกษตร ใช้เพื่อการพาณิชย์ ใช้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งกฎหมายใหม่นั้นก็มีความชัดเจนขึ้นในระดับหนึ่ง

ต่อมา ท่านศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ได้อธิบายถึงกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการเสวนาได้เข้าใจ และไขข้อปัญหาของกฎหมายภาษีในมุมมองประเด็นความซ้ำซ้อนของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ รวมถึงการวิเคราะห์ผลกระทบจากการตรากฎหมายนี้ และวิเคราะห์อัตราภาษีในกฎหมายใหม่ ท่านได้แนะแนวทางมาตรการรับมือภาษีที่ดินให้ผู้เข้าร่วมการเสวนาได้เข้าใจอีกด้วย

ในการเสวนาทางวิชาการในครั้งนี้ มีท่านอาจารย์วิมพัทธ์ ราชประดิษฐ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ มีการซักถาม ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากมายหลายประเด็น และในตอนท้ายกิจกรรมมีการ ถาม-ตอบ ข้อสงสัยกับผู้เข้าร่วมการเสวนาให้ไขข้อสงสัย

การเสวนาในครั้งนี้ ผ่านลุล่วงไปด้วยดี โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยหากกฎหมายมีการประกาศใช้ไประยะหนึ่ง ทางคณะนิติศาสตร์จักมีการจัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการเช่นนี้อีกเพื่อให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากยิ่งขึ้นต่อไป