คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถาบันพระปกเกล้า ได้จัดการเสวนาทางวิชาการเวที ฬ.จุฬาฯ นิติมิติ เรื่อง “คู่ชีวิต = คู่สมรส ?” เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2562
ซึ่งได้รับเกียรติจากท่านวิทยากร โดย
- ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ
อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ - อ.ดร.ภาวัฒน์ สัตยานุรักษ์
รองผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M.Business Law (International Program) คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ - ผศ.ดร. หทัยรัตน์ บุณโยปัษฎัมภ์
หัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ - ผศ.ดร. เพ็ชรัตน์ ไสยสมบัติ
อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ - นายฉัตรชัย เอมราช
นิสิตหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
และดำเนินรายการโดย
- ผศ.ดร.ศุภศิษฏ์ ทวีแจ่มทรัพย์
รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ - อาจารย์วิมพัทธ์ ราชประดิษฐ์
ผู้ช่วยผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
การเสวนาทางวิชาการในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ กล่าวต้อนรับและเปิดงานเสวนา ณ ศูนย์ “เพชรรัตน” นิติทรัพยากร ชั้น 1 อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในการนี้ ผู้ดำเนินรายการ ท่านผศ.ดร.ศุภศิษฏ์ ทวีแจ่มทรัพย์ และ อาจารย์วิมพัทธ์ ราชประดิษฐ์ ได้กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของพระราชบัญญัติคู่ชีวิต เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเสวนาทางวิชาการได้ทราบถึงเรื่องราวที่จะร่วมเสวนากันในครั้งนี้
ในการเสวนาทางวิชาการในครั้งนี้ ท่านศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ ได้กล่าวถึงข้อจำกัดในกฎหมายครอบครัวของประเทศไทยในปัจจุบันที่มีต่อเพศทางเลือก และพระราชบัญญัติคู่ชีวิตฉบับนี้ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกฎหมายยกเว้นโดยสภาพรองรับเพียงมารดาผู้ให้กำเนินเท่านั้น และในกรณีของการรับรองบุตรบุญธรรม ก็ยังไม่สามารถให้คู่ชีวิตร่วมกันรับบุตรบุญธรรมได้
ประเด็นต่อมาที่มีความน่าสนใจคือ ประเด็นสิทธิของเด็ก หรือเยาวชนตามกฎหมายไทยในปัจจุบัน เนื่องจากยังขาดการพิจารณาในแง่มุมของผลประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ ในปัจจุบันยังไม่สามารถคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กได้อย่างเต็มที่ คนส่วนใหญ่มักมองมุมมองของเด็กผ่านมุมมองของตนเอง โดยไม่ได้สนใจว่าจริงแท้แล้วเด็กต้องการอะไร ซึ่งในประเด็นนี้นายฉัตรชัย เอมราช ได้กล่าวขึ้นอธิบายให้ผู้เข้าร่วมเสวนาทางวิชาการโดยพิจารณาตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้ผู้เข้าร่วมการเสวนาทางวิชาการได้เห็นภาพรวมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
นอกจากนี้แล้ว ในการเสวนาทางวิชาการในครั้งนี้ ได้สอดแทรกมุมมองทางสังคมวิทยา ซึ่งนำโดยท่านผศ.ดร.หทัยรัตน์ บุณโยปัษฎัมภ์ และท่านผศ.ดร.เพ็ชรัตน์ ไสยสมบัติ โดยกล่าวถึงผลการวิจัยมุมมองของคนในสังคมไทยในปัจจุบันต่อการจดทะเบียนสมรสของเพศทางเลือก โดยจำแนกทั้งช่วงอายุ และเพศของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีมุมมองที่ดี และมีการยอมรับต่อเพศทางเลือกมากยิ่งขึ้น
ซึ่งในช่วงของการแสดงทัศนะของผู้เข้าร่วมเสวนา ได้มีการแลกเปลี่ยน และจุดประกายแนวความคิด มุมมองต่างๆ ซึ่งเป็นบรรยากาศที่เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม และความสุขของผู้เข้าร่วมการเสวนาทางวิชาการในครั้งนี้