วันจันทร์ที่ 30 มกราคม 2566 คณบดี (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์) ได้มอบประกาศนียบัตรสำหรับผู้ผ่านการเข้าร่วมโครงการ “ห้องปฏิบัติการกฎหมายสิทธิมนุษยชน” (LawLAB for Anti-SLAPPs) ประจำปีการศึกษา 2564 จำนวน 16 คน ณ ห้องประชุมใหญ่ (ห้อง 502) อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โครงการห้องปฏิบัติการกฎหมายสิทธิมนุษยชน (LawLAB for Anti-SLAPPs) เป็นห้องปฏิบัติการทางกฎหมายหนึ่งภายใต้โครงการ LawLAB ซึ่งได้จัดขึ้นประจำปีการศึกษา 2564 ที่ผ่านมา เพื่อให้นิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมในการให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของสิทธิมนุษยชนให้กับนิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ตระหนักถึงความท้าทายในการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (SLAPPs) เพื่อให้นิสิตมีทักษะความรู้ความเข้าใจในสิทธิมนุษยชนและฝึกทักษะในการทำงานทางด้านกฎหมายและด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่การทำงานในอนาคต และตระหนักถึงความสำคัญของกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้ความดูแลจากคณาจารย์และองค์กรที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย อันได้แก่ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ส่งผลให้นิสิตได้มีในการโอกาสพัฒนาตนเองทางด้านต่าง ๆ ทั้งความรู้ ความสามารถทางด้านกฎหมาย และมีประสบการณ์ในการทำงานในประเด็นกฎหมายต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่การทำงานในอนาคต ตระหนักถึงความสำคัญของกฎหมายที่เกี่ยวข้องในแง่มุมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ทำให้นิสิตสามารถนำไปต่อยอดและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อผู้อื่นได้

          นิสิตที่เข้าร่วมโครงการจะได้ร่วมทำงานกับสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนซึ่งได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้ที่ถูกดำเนินคดี SLAPPs และทำการศึกษาการฟ้องคดีปิดปากว่าการฟ้องคดีประเภทนี้ (1) สร้างผลกระทบอย่างไรต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน (2) สร้างความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างไร และ (3) มีผลกระทบต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างไร นิสิตจะร่วมกับสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนพัฒนาคู่มือประชาชนในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์การฟ้องคดีปิดปาก และจัดทำเป็น Infographics รายงานข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหานี้ต่อสาธารณะ

นิสิตจะได้รับการมอบหมายให้สังเกตการณ์กระบวนการพิจารณาคดีการเมืองร่วมกับทนายความและ จัดทำรายงานสรุปการสังเกตการณ์และสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดทำบทความประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาคู่มือประชาชนในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์การฟ้องคดีปิดปากที่ริเริ่มโดยสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ภายใต้คำแนะนำและการดูแลจากเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

          นอกจากนี้ ยังมีการจัดอบรมร่วมกับมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งหมด 3 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดขึ้นในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ในหัวข้อ “การฟ้องคดีปิดปากและการคุ้มครองผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ (Anti-SLAPPs)” จำนวน 5.30 ชั่วโมง ครั้งที่ 2 จัดขึ้นในวันที่ 11 มิถุนายน 2565 ในหัวข้อ “การฟ้องคดีปิดปากและการคุ้มครองผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ (Anti-SLAPPs)” จำนวน 3 ชั่วโมง และครั้งที่ 3 จัดขึ้นในวันที่ 13 สิงหาคม 2565 ในหัวข้อ “SLAPPs ในมุมมองผู้ฟ้องคดี” จำนวน 3 ชั่วโมง รวมเวลาทั้งหมด 11.30 ชั่วโมง ซึ่งจัดขึ้นที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากกิจกรรมทั้งหมดข้างต้นนี้ ได้มีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 23 คน สำเร็จตามโครงการทั้งหมด 16 คน คิดเป็น 61.5% ซึ่งนิสิตทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป้าหมายที่ 16 การส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ โดยการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ นิยามและองค์ประกอบการฟ้องคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ สถานการณ์การฟ้องคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะในประเทศไทยและผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการจัดการกับการฟ้องคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะในประเทศและความท้าทายของการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย การค้นคว้าและสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อการทำบทความประชาสัมพันธ์ และการทำคู่มือความรู้เกี่ยวกับปัญหาคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ ในอนาคตอาจมีการพัฒนาโครงการห้องปฏิบัติการกฎหมายสิทธิมนุษยชน (LawLAB for Anti-SLAPPs) ให้สามารถรองรับนิสิตหรือนักศึกษาหรือประชาชนที่มีความสนใจได้มากยิ่งขึ้น เพิ่มกิจกรรมการทำ workshop และพัฒนาโครงการให้นำไปสู่การเป็น Law Clinic กฎหมายสิทธิมนุษยชนต่อไป