เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ณ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สุวัฒน์ จัดให้มีพิธีปิดโครงการ Special LawLAB “การสืบสวนสอบสวนยุค 5G” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ ผบก.สส.บช.น. และคณะตำรวจที่เป็นครูพี่เลี้ยงเข้าร่วมพิธี

โครงการนี้ คัดเลือกนิสิตชั้นปีที่ 2-4 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าฝึกอบรมภาควิชาการ และภาคปฏิบัติ กับตำรวจใน 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล, สน.พญาไท, สน.ห้วยขวาง, สน.บางเขน, สน.บางนา และ สน.พระโขนง

ก่อนพิธีปิด นิสิตผู้ผ่านการเข้าร่วมโครงการนำเสนอผลการฝึกงานในแต่ละหน้างานที่ตนได้เข้ารับการฝึกอบรม โดยได้เปิดเผยความรู้สึกในการอบรมครั้งนี้ ว่าสนุกกับการเข้าร่วมฝึกเรียนรู้การทำงานของตำรวจ เป็นการเปิดประสบการณ์ที่ไม่มีอยู่ในตำรา ทำให้ทราบถึงแนวทางตามหลักการทางทฤษฎีที่เล่าเรียนมา กับการนำไปปฏิบัติใช้จริงในทางปฏิบัติ การรับมือกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า และกระบวนการทางยุติธรรมตั้งแต่ต้นทางว่าควรดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูล พยานหลักฐาน ซึ่งนำไปสู่การจับกุมอย่างไร การดำเนินงานในทางราชการลับมีความจำเป็นและลักษณะการทำงานเช่นไร

ส่วนนิสิตที่ได้ฝึกงานสอบสวน กับพนักงานสอบสวน ใน สน.เผยความรู้สึกว่า การฝึกอบรมในโครงการนี้ทำให้เห็นว่าพนักงานสอบสวนที่ประจำตามโรงพักมีจำนวนไม่เพียงพอ ได้ศึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า และการรับมือกับสภาวะทางอารมณ์ของประชาชนที่เดินทางมาเเจ้งความร้องทุกข์

ด้าน พล.ต.อ.สุวัฒน์ ระบุว่า โครงการนี้เกิดขึ้นเพราะอยากฟังเรื่องการทำงานของตำรวจในมุมมองของประชาชน โดยเฉพาะน้องๆ รุ่นใหม่ ที่ต่อไปก็จะไปอยู่ในวงการกฎหมาย เบื้องต้นปัญหาส่วนใหญ่ที่ได้รับทราบจากนิสิตมาเป็นเรื่องของกำลังพลในส่วนของพนักงานสอบสวนที่ไม่เพียงพอต่อคดีที่มีจำนวนมาก โดยยอมรับว่าตำรวจในฝ่ายปฏิบัติมีจำนวนไม่เพียงพอต่อภาระหน้างาน จึงมีโครงการจะปรับลดฝ่ายอำนวยการและเพิ่มจำนวนฝ่ายปฏิบัติให้มากขึ้น

ผบ.ตร.กล่าวด้วยว่า จะนำข้อเเนะนำจากมุมมองอันเป็นเสียงสะท้อนของนิสิตไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อเตรียมทำหลักสูตร เเละโครงการต่อไป ซึ่งหากมีโอกาสได้ต่อยอดโครงการนี้ ส่วนตัวอยากเชิญอินฟลูเอนเซอร์ สื่อมวลชน เเละแอดมินเพจต่างๆ ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก เข้าร่วมด้วย เพื่อจะได้เห็นวิธีการ เเละเข้าใจการทำงานของตำรวจ เสมือนกระจกส่องการทำงานของตำรวจด้วยว่าการทำงานในทุกวันนี้ยังมีข้อบกพร่องหรือข้อควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไรบ้าง

ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณาฯ คณบดี กล่าวขอบคุณทางตำรวจพี่เลี้ยงทุกคนที่ดูแลนิสิตอย่างดีมาตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าในคราวแรกทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคณาจารย์จะมีความกังวลใจเมื่อเห็นว่านิสิตที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นนิสิตผู้หญิง แต่เมื่อได้พูดคุยกับนิสิตได้รับทราบมาว่าพี่เลี้ยงทุกคนดูแลอย่างดีพร้อมทั้งไปรับไปส่งจนถึงที่พักทุกคืนหลังจากเสร็จภารกิจ

“ต้องขอบคุณ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จัดโครงการนี้ขึ้น เปรียบเสมือนมิติใหม่ที่ ยินยอมเปิดประตูตัวเองออกมาเปิดรับประชาชน โดยเฉพาะเป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นการปรับตัว เปิดประตูให้ประชาชนได้เข้าไปเห็นว่าตำรวจทำงานอย่างไร ไม่ใช่แค่การได้ยินได้ฟังว่าตำรวจที่มักพูดว่าภาระหน้างานจำนวนมาก เเต่ครั้งนี้จะทำให้ประชาชนได้เข้าไปรับรู้ และมีส่วนร่วม เห็นการทำงานของตำรวจอย่างแท้จริง” คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวพร้อมเสริมท้ายว่าในฐานะอาจารย์ จะได้นำข้อมูลไปพิจารณากระบวนการเรียนการสอนว่าดำเนินมาถูกทิศทางเเล้วหรือไม่อย่างไร รวมทั้งต้องมาพิเคราะห์โจทย์เพิ่มเติมว่าจะสร้างสรรค์กิจกรรมใดๆ สนองคุณค่ากลับคืนให้สังคมได้บ้าง อันจะเป็นการขยายมุมมองที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันจัดทำ จุดประกายทางสติปัญญาให้สังคมได้เห็นเหมือนกับที่นิสิตผู้ร่วมโครงการนี้ได้สัมผัสมา