วันจันทร์ที่ 12 กันยายน 2565 คณบดี (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์) และรองศาสตราจารย์ ดร.คนึงนิจ  ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการ ได้มอบประกาศนียบัตรสำหรับผู้ผ่านการประเมินจากโครงการ “ห้องปฏิบัติการกฎหมายเพื่ออากาศสะอาด” (LawLAB for Clean Air) ปีที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2564 จำนวน 21 คน ณ ห้องประชุมใหญ่ (ห้อง 502) อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โครงการห้องปฏิบัติการกฎหมายเพื่ออากาศสะอาด (LawLAB for Clean Air) ปีที่ 2 เป็นห้องปฏิบัติการทางกฎหมายหนึ่งภายใต้โครงการ LawLAB ซึ่งได้จัดขึ้นประจำปีการศึกษา 2564 ระยะเวลาการดำเนินการ ตั้งแต่เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อให้นิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เรียนรู้ถึงสภาพปัญหาของกฎหมายเกี่ยวข้องกับการจัดการอากาศสะอาดในปัจจุบัน การร่วมกันถกเถียงและหาทางออกของปัญหาโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ตลอดจนการเข้าใจถึงกระบวนการเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชนซึ่งเป็นสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันกำหนด จะมีส่วนช่วยให้นิสิตได้รับความรู้ และประสบการณ์จากทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชน กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายสุขภาพ กฎหมายเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน และยังเป็นการบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ ในหลายมิติ อาทิ กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม วิทยาศาสตร์สุขภาพ เศรษฐศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์สังคมศาสตร์ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมทั้งการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่นิสิตว่าปัญหามลพิษทางอากาศนั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างไร

โครงการห้องปฏิบัติการกฎหมายเพื่ออากาศสะอาด ควบคุมดูแลโดย รองศาสตราจารย์ ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม ร่วมกับทีมงานจากเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย (Thailand Clean Air Network หรือ Thailand CAN) โดยแบ่งกิจกรรมหลัก ๆ ออกเป็น 2 กิจกรรม ดังนี้

(1)  กิจกรรมอบรมความรู้พื้นฐานเพื่อพัฒนาให้นิสิตมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพในมิติต่าง ๆ  ได้แก่  มิติสุขภาพ มิติเศรษฐศาสตร์ มิติกฎหมาย (ประกอบด้วย กฎหมายสิทธิมนุษยชน กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายสุขภาพ และกฎหมายเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน) มิติการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมเพื่อเรียกร้องสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด และมิติการสื่อสารสาธารณะ โดย วิทยากรทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขา อาทิ รองศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ อรรถวานิช นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและมานุษยวิทยาทางการแพทย์ คุณวีณาริน ลุลิตานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย เป็นต้น ผ่านระบบ ZOOM (2)  กิจกรรมการฝึกภาคปฏิบัติ ประกอบด้วย การฝึกการออกแบบการสื่อสารสาธารณะเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพต่อสาธารณชน เช่น การออกแบบโปสเตอร์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพ และการเขียนข้อความเชิญชวนประชาชนทั่วไปให้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. … ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เป็นต้น รวมถึงการเข้าร่วมงานยื่นแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี รับรองร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดฯ ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565