การประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ – แนวปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรฐานการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI)

จัดโดย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สนับสนุนโดย บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แชนด์เลอร์ เอ็มเอ็ชเอ็ม จำกัด

ความเป็นมา

ตั้งแต่ปี 2561 ที่ศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (LDRC) ได้จัดแนวปฏิบัติ (guideline) เป็นบริการสาธารณะ ด้วยวัตถุประสงค์สร้างองค์ความรู้ให้คณาจารย์ นิสิต ทั้งหน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน ผู้ประกอบการ และประชาชน เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทกับการดำเนินชีวิตและการดำเนินงานทั้งของรัฐและเอกชน กฎหมายนับเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่มีส่วนช่วยส่งเสริมและกำกับดูแล การสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ถือเป็นภารกิจที่สำคัญของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและคุ้มครองผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

ด้วย LDRC เล็งเห็นว่าประเด็นเฉพาะด้านของการประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นช่องว่างยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนที่จะสามารถใช้อ้างอิงกันได้ตามกฎหมาย LDRC จึงเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องจัดทำแนวปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรฐานการใช้ปัญญาประดิษฐ์  

การดำเนินงานบริการสาธารณะเพื่อจัดทำแนวปฏิบัติของ LDRC นับตั้งแต่ แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Thailand Data Protection Guidelines) จะเกิดมีขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน และผู้ประกอบการ สำหรับโครงการนี้ LDRC ได้รับการสนับสนุนการจัดทำจากองค์กรธุรกิจชั้นนำ ได้แก่ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แชนด์เลอร์ เอ็มเอ็ชเอ็ม จำกัด 

ทั้งนี้ ร่างแนวปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรฐานการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ฉบับรับฟังความคิดเห็นสาธารณะนี้ ได้จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานและการประชุมกลุ่มย่อยกับผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ภายหลังจากการการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะนี้ คณะทำงานจะดำเนินการปรับปรุงตามข้อเสนอแนะและเผยแพร่แนวปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรฐานการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ต่อไปดังเช่นที่ผ่านมา

นอกจากนี้ แนวปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรฐานการใช้ปัญญาประดิษฐ์นี้ จะได้นำพัฒนาเพื่อจัดทำร่างนโยบาย และร่างระเบียบ มาตรการ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ ภายใต้โครงการจัดทำระเบียบ มาตรการ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งโครงการดังกล่าวจะจัดประชุมระดมความคิดเห็น (Focus Group) ในระหว่างวันที่ 1 – 5 และ 8 – 9 สิงหาคม 2565 

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อให้คณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีพื้นฐานความรู้ด้านต่างๆ ได้ร่วมกันพัฒนาจัดทำแนวปฏิบัติฯ เพื่อเป็นหลักของประเทศต่อไป
  2. เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้แก่ผู้ประกอบการเป็นการทั่วไปเกี่ยวกับการประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์ตามกฎหมายไทย
  3. เพื่อเป็นเวทีสำหรับการทำความเข้าใจร่วมกันถึงแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์ที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และสร้างความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องอันจะเป็นพื้นฐานแก่การยกระดับมาตรฐานให้เทียบเท่าสากล
  4. เพื่อเผยแพร่และให้ความรู้ถึงแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์
  5. เพื่อนำองค์ความรู้ไปพัฒนาเป็นร่างนโยบาย และร่างระเบียบ มาตรการ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์

เป้าหมายของโครงการ

  1. มีคู่มือมาตรฐานและแนวปฏิบัติสำหรับการประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์ Version 1.0 
  2. เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับแนวปฏิบัติสำหรับการประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์สำหรับผู้ประกอบการ
  3. พัฒนาแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์อย่างต่อเนื่องต่อไป
  4. พัฒนาเป็นร่างนโยบาย และร่างระเบียบ มาตรการ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์

คณะทำงาน

  1. รศ..ดร.ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง
  2. รศ.ดร.พัฒนาพร โกวพัฒนกิจ
  3. ดร. พีรพัฒ โชคสุวัฒนสกุล
  4. ดร.เยาวลักษณ์ ชาติบัญชาชัย
  5. ดร.ชวิน อุ่นภัทร
  6. อาจารย์ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล