คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวิวัฒนาการสืบเนื่องมานับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2476 กล่าวคือ ก่อนหน้านั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่านิติศึกษา ณ โรงเรียนกฎหมายในกระทรวงยุติธรรมได้เจริญยิ่งขึ้นเป็นลำดับมา และมีผลประจักษ์ว่าได้บรรลุถึงขีดวิชาขั้นมหาวิทยาลัยในอารยประเทศแล้ว เป็นการสมควรที่จะบำรุงต่อไปในทำนองมหาวิทยาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประสานระเบียบการศึกษานิติศาสตร์ เข้ากับมหาวิทยาลัยเป็นคณะวิชาคณะหนึ่ง และได้มีประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2476 จัดตั้งคณะขึ้นมีชื่อเรียกว่า “คณะนีติศาสตร์และรัฐศาสตร์” นับเป็นคณะนิติศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2476 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476 ซึ่งมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้โอนคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปตั้งเป็นคณะนิติศาสตร์ขึ้นใหม่ในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ด้วยเหตุนี้ คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเป็นอันสิ้นสภาพลงไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง
ในเวลาต่อมาได้มีการจัดตั้งแผนกวิชานิติศาสตร์ขึ้นใหม่ในคณะรัฐศาสตร์โดยพระราชกฤษฎีกาจัดแบ่งแผนกวิชาในคณะต่างๆ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2494 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2494 จึงเป็นอันว่าวิชากฎหมายได้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2501 แผนกวิชานิติศาสตร์ได้ปรับปรุงหลักสูตรและเปิดรับนิสิตเข้าเรียนในแผนกวิชานิติศาสตร์โดยตรง การเรียนการสอนในขณะนั้นก็แยกออกจากแผนกวิชารัฐศาสตร์ทั้งหมดโดยสิ้นเชิง จึงเป็นอันว่าการเรียนการสอนในแผนกวิชานิติศาสตร์ในยุคหลังได้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ตั้งแต่นั้นมา
การศึกษาวิชากฎหมายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เจริญรุ่งเรืองขึ้น จนกระทั่งมหาวิทยาลัยในขณะนั้นได้เล็งเห็นความสำคัญที่จะต้องเปิดภาคสมทบขึ้นเพื่อสนองความต้องการของผู้ที่จะเข้าศึกษาวิชานิติศาสตร์ จึงได้เปิดการสอนภาคสมทบขึ้นในปีการศึกษา 2508
ต่อมาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พิจารณาเห็นว่า การศึกษาวิชานิติศาสตร์ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับและได้เริ่มทำการสอนจนถึงขั้นปริญญาโททางนิติศาสตร์ตั้งแต่ปีการศึกษา 2512 เป็นต้นมา สมควรที่จะยกฐานะแผนกวิชานิติศาสตร์ขึ้นเป็นคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารงานสาขาวิชานิติศาสตร์ดำเนินไปได้ด้วยดี มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ประกอบกับเหตุผลสำคัญ คือ ในต่างประเทศ ถือว่าการศึกษาวิชานิติศาสตร์เป็นวิชาสำคัญ ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงจะต้องมีคณะนิติศาสตร์ขึ้นเป็นคณะสำคัญของมหาวิทยาลัย ในที่สุดได้มีการดำเนินการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ขึ้นอีกครั้งหนึ่งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2515 โดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 164 คณะนิติศาสตร์จึงได้รับการจัดตั้งเป็นคณะอย่างสมบูรณ์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันลงประกาศดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และเมื่อ พ.ศ. 2538 นี้ ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2538 เพื่อใช้แทนประกาศของคณะปฏิวัติที่มีมาแต่เดิม ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เป็นไปตามวิธีการตรากฎหมายในระบบปกติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
โดยนัยนี้ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบันจึงจัดตั้งขึ้นตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2522 และถือเอาวันที่ 18 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันที่ระลึกสถาปนาคณะฯ นับถึงปัจจุบันนี้ จึงกล่าวได้ว่า การศึกษาวิชานิติศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินต่อเนื่องมากว่า 50 ปีแล้ว
เดิมคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประกอบด้วยภาควิชา 5 ภาควิชา คือ (1) ภาควิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (2) ภาควิชากฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา (3) ภาควิชากฎหมายวิธีพิจารณาและธรรมนูญศาล (4) ภาควิชากฎหมายการปกครองและกฎหมายทั่วไป (5) ภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศ ปัจจุบันนี้ โครงสร้างใหม่ของคณะนิติศาสตร์ได้ยกเลิกภาควิชาทั้ง 5 ภาควิชาแล้ว และมีภาควิชานิติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ภาควิชาเดียว จึงเป็นการบริหารงานทางวิชาการตามลักษณะของศาสตร์เป็นแบบสหสาขาวิชา ไม่อาจแบ่งความเชี่ยวชาญเฉพาะโดยปราศจากความเกื้อกูลจากความเชี่ยวชาญแขนงอื่นได้
ผู้สำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แยกย้ายกันไปประกอบอาชีพที่หลากหลาย เช่น เป็นผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ อาจารย์สอนวิชากฎหมาย ที่ปรึกษากฎหมาย นิติกร ข้าราชการตามกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ประกอบอาชีพธุรกิจเอกชน นักการเมือง ฯลฯ ได้สร้างผลงานและชื่อเสียงให้เป็นที่ปรากฏแก่วงการต่างๆ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ