สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (หอสมุดกลาง)
สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (หอสมุดกลาง) ให้บริการและอำนวยความสะดวกในการใช้งานทรัพยากรสารสนเทศทุกประเภทที่มีมาตรฐาน เช่น วารสารวิชาการนานาชาติ สิ่งพิมพ์หายาก สื่อดิจิทัล หนังสือเรียน และนิตยสาร ฯลฯ รวมทั้งมีสตูดิโอสำหรับการทำสื่อชนิดต่างๆ ไว้รองรับ เพื่อสนองความต้องการด้านการเรียน การสอน การวิจัย และความใฝ่รู้ ทั้งแก่ประชาคมวิชาการและบุคคลทั่วไป
อาคารจามจุรี 9
สำนักบริหารระบบกายภาพ (สบภ.) เป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่ออธิการบดี มีภาระหน้าที่ด้านการบริหารจัดการอาคารสถานที่ ภูมิทัศน์ พลังงาน สิ่งแวดล้อม ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และยานพาหนะของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเอื้ออำนวยต่อบรรยากาศการเรียนการสอน การวิจัย และการบริหารงานตามวัตถุประสงค์และพันธกิจของมหาวิทยาลัย ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารระบบกายภาพของสำนักบริหารและศูนย์ขึ้นตรงต่าง ๆ ในสำนักงานมหาวิทยาลัย รวมทั้งเอื้ออำนวยและให้คำปรึกษาแก่ส่วนงานและหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการดำเนินงานในความรับผิดชอบ
PLEARN Space
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดพื้นที่ “PLEARN Space” ณ ชั้น 1 อาคารเปรมบุรฉัตร เพื่อเป็นพื้นที่การเรียนรู้และการทำกิจกรรมสำหรับนิสิตจุฬาฯ เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2561 เป็นต้นไป โดยในระยะแรกเป็นการเปิดทดลองให้ใช้บริการ 24 ชั่วโมง จนถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2561 เพื่อให้นิสิตใช้เป็นพื้นที่ในการอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบ และจะเริ่มเปิดให้บริการตามเวลาปกติในวันที่ 16 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป
ศูนย์กีฬา
ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานที่มีรูปแบบการบริหารงานในระบบวิสาหกิจที่ไม่มุ่งเน้นผลกำไร และอยู่ในกำกับของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระยะแรกประมาณ พ.ศ.2510 ได้มีการก่อสร้างสนามกีฬา 3 สนาม คือ สนามเทนนิส สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสระว่ายน้ำ 50 เมตร ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มอบหมายให้กองอาคารสถานที่เป็นผู้ดูแล และต่อมาในปี พ.ศ. 2522 มหาวิทยาลัยได้เปิดบริการสนามกีฬาในร่ม และสระว่ายน้ำ 25 เมตร ขนาด 2 ไร่ ที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น
อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ
อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มพื้นที่บนแนวแกนสีเขียว ในเขตพาณิชย์ของมหาวิทยาลัย เพื่อเสริมสร้างความสุขแก่ชุมชน และเชื่อมโยงชุมชนโดยรอบให้เข้าถึงกัน โดยพัฒนาสภาพแวดล้อมที่สวยงาม เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงพื้นที่ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์หลายรูปแบบ ตามแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Smart inclusive society / Digital / Food Security / Aging โดยใช้ Smart inclusive society หนึ่งในแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จุฬาฯ มาใช้เป็นแนวการพัฒนาอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ
เรือนวิรัชมิตร ( CU iHOUSE )
อาคารพักอาศัยเพื่อรองรับนิสิตต่างชาติ (International House) และเป็นที่พักอาศัยในรูปแบบการเช่ารายเดือนสำหรับบุคลากร รวมถึงการเช่ารายวันสำหรับการสนับสนุนกิจกรรมของมหาวิทยาลัย รูปแบบของอาคารได้รับการออกแบบให้มีความเชื่อมโยงผสมผสานระหว่างความเป็นสถาบันการศึกษา (Academic) และรูปแบบของการใช้ชีวิตในเมือง (City Life) ทั้งทางด้านมาตรฐานความปลอดภัยรวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้แก่ชุมชนโดยรอบ มีการเตรียมพื้นที่ว่างที่เปิดโล่งให้เพียงพอสำหรับการทำกิจกรรม และพื้นที่ใช้สอยที่เอื้อต่อความสะดวกสบาย เช่น มุมพักผ่อน สระว่ายน้ำ และห้องออกกำลังกาย เป็นต้น