1. ศูนย์กฎหมายเพื่อประชาชน


ผู้บริหาร

รองศาสตราจารย์อรพรรณ พนัสพัฒนา

ผู้อำนวยการ

ติดต่อ

ห้อง 806 ชั้น 8 อาคารเทพทวาราวดี  คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • โทรศัพท์ 0-2218-2017 ต่อ 520
  • สายตรงสำหรับให้คำปรึกษาทางกฎหมาย 0-2218-2066
  • โทรสาร 0-2218-2017 ต่อ 520
  • E-mail legalaidcenter@yahoo.com

ความเป็นมา

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากจะดำเนินการทางด้านวิชาการ ค้นคว้าวิจัยทางนิติศาสตร์แล้ว ยังได้ดำเนินการเผยแพร่ความรู้และให้บริการช่วยเหลือโดยการให้คำปรึกษาทาง กฎหมาย แก่ประชาชนต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลานานกว่า  20 ปี แต่เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ กำกับดูแลและประสานงานโดยเฉพาะ  คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  รองศาสตราจารย์ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย (ตำแหน่งในขณะนั้น)  จึงได้มีคำสั่งให้จัดตั้งศูนย์กฎหมายเพื่อประชาชนขึ้นในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีรองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ เป็นผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายเพื่อประชาชนคนแรก ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทน ศูนย์กฎหมายเพื่อประชาชนในกิจการต่างๆ และเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบงานทั้งหมด โดยมีอาจารย์อรพรรณ พนัสพัฒนา (ตำแหน่งในขณะนั้น) เป็น รองผู้อำนวยการศูนย์ฯ ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการศูนย์ฯ มอบหมาย และช่วยเหลือผู้อำนวยการศูนย์ฯ ทั้งในงานบริหาร วิชาการ และปฏิบัติการ เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการเผยแพร่ความรู้ และให้บริการช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ประชาชนโดยเฉพาะ และมีอาจารย์มานิตย์ จุมปา (ตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายเพื่อประชาชน เพื่อช่วยปฏิบัติราชการของศูนย์กฎหมายเพื่อประชาชน นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2535 ศูนย์กฎหมายเพื่อประชาชนจึงได้ถือกำเนิดขึ้นภายในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ดำเนินงานเผยแพร่ความรู้และให้บริการช่วยเหลือประชาชนทางด้านกฎหมายมา จนถึงปัจจุบัน

วัตถุประสงค์

  1. ดำเนินการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายเพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในสิทธิและหน้าที่ของตน
  2. ให้บริการช่วยเหลือ แนะนำ และให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ประชาชน
  3. เป็นศูนย์กลางรับผิดชอบกำกับดูแลและประสานงานการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย ตลอดจนทั้งการ ให้ คำแนะนำ ปรึกษาปัญหากฎหมายแก่ประชาชนภายในคณะนิติศาสตร์  และประสานงานความร่วมมือกับนักวิชาการ หน่วยงาน และสถาบันทั้งในภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์ในแนวทางเดียวกัน

การดำเนินงาน

ศูนย์กฎหมายเพื่อประชาชน ดำเนินการเผยแพร่ความรู้และให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายแก่ประชาชน ตลอดจนประสานความร่วมมือกับนักวิชาการ หน่วยงาน และสถาบัน ทั้งในภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์ในแนวทางเดียวกัน ซึ่งงานให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนนั้น ถือว่าเป็นงานที่สำคัญมากของศูนย์กฎหมายเพื่อประชาชน โดยได้แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. ส่วนให้คำปรึกษาทางกฎหมาย

ขอบเขตของงานให้คำปรึกษาทางกฎหมายนั้น ทางศูนย์กฎหมายเพื่อประชาชน จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในรูปของการให้คำแนะนำ คำปรึกษาและการตอบปัญหากฎหมายแก่ประชาชนโดยผ่านทางโทรศัพท์ ทางจดหมาย และจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-Mail) หรือจะเดินทางมาปรึกษาด้วยตนเองได้ที่ศูนย์กฎหมายเพื่อประชาชน (วันจันทร์ – วันศุกร์  เวลา 08.00 – 17.00 น.)

2. ส่วนเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย

นอกจากการให้ความช่วยเหลือในรูปของการให้คำปรึกษา คำแนะนำแล้ว ทางศูนย์กฎหมายเพื่อประชาชนเล็งเห็นว่า การทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจทางด้านกฎหมายมากขึ้นจะทำให้ ประชาชนมีเกราะป้องกันในการถูกเอารัดเอาเปรียบได้ อีกทั้ง หากประชาชนมีความรู้ความเข้าใจทางด้านกฎหมาย เมื่อมีปัญหาทางด้านกฎหมายเกิดขึ้น ก็ย่อมสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ทุเลาเบาบางลงได้อย่างถูกวิธีและโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งย่อมจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนได้มากกว่าการที่จะแก้ปัญหาโดยปราศจากความรู้ทางด้านกฎหมาย ศูนย์กฎหมายเพื่อประชาชนจึงได้ทำการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายใน 2 ลักษณะ ดังนี้

2.1 การเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายทางสื่อมวลชน

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การติดต่อสื่อสารในปัจจุบันนี้เป็นไปได้สะดวกรวดเร็วกว่าในสมัยก่อนมากและสื่อมวลชนเข้ามามีบทบาทต่อสังคมค่อนข้างสูง ทางศูนย์กฎหมายเพื่อประชาชน เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเผยแพร่ความรู้ทางด้านกฎหมายมากขึ้น และสื่อมวลชนนั้นสามารถเข้าถึงประชาชนได้ถึงในครัวเรือน  เพราะในปัจจุบันนั้นบรรดาสื่อต่าง ๆ ได้มีการขยายเครือข่ายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ  หากมีการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายผ่านทางสื่อมวลชนแล้ว ย่อมทำให้ประชาชนในประเทศได้รับความรู้โดยกว้างขวางและทั่วถึง ประโยชน์สูงสุดย่อมเกิดขึ้นแก่ประชาชนโดยทั่วไป

ศูนย์กฎหมายเพื่อประชาชนทำการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (วิทยุจุฬาฯ) FM 101.5 MHz ทุกวันพุธ ระหว่างเวลา 10.05 – 10.30 น. และ Rerun ทุกวันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 11.05 – 11.30 น. ในรายการ “นิติมิติ” โดยเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาพูดคุยซักถามกันในรายการ และมีการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาด้านกฎหมายที่น่าสนใจ

2.2 การเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย

ด้วยเหตุที่กฎหมายคือบทบัญญัติของรัฐที่ใช้บังคับแก่ประชาชนทั้งประเทศเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมโดยส่วนรวม แต่ประชาชนในชนบทซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศค่อนข้างที่จะขาด ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องกฎหมายที่จะใช้บังคับกับตน ตลอดจนสิทธิที่จะได้รับและหน้าที่ที่พวกเขาจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ด้วยเหตุดังกล่าวศูนย์กฎหมายเพื่อประชาชนจึงได้จัดให้มีโครงการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนในชนบท ในช่วงของการปิดภาคเรียนเดือนมีนาคมและเดือนตุลาคม ซึ่งจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 10 วัน โดยเปิดโอกาสให้นิสิตที่มีความสนใจในการเผยแพร่ความรู้ทางด้านกฎหมายแก่ประชาชนสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นการนำความรู้ที่นิสิตได้ศึกษามาไปใช้ประโยชน์แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาสในสังคม  และเพื่อเป็นการพัฒนาตัวนิสิตเองด้วยลักษณะการทำงานในโครงการดังกล่าว ช่วงแรกจะเป็นการกำหนดพื้นที่ที่จะทำการเผยแพร่และทำการสำรวจข้อมูลจากพื้นที่จริงว่ามีปัญหากฎหมาย ตลอดจนปัญหาอื่นที่เกี่ยวข้องแล้วดำเนินการสรุปข้อมูลที่ได้รับ และลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริงโดยการบรรยายความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนในพื้นที่ภายหลังจากการบรรยายความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนแล้ว จะมีการตอบปัญหาทางกฎหมายที่ประชาชนสอบถาม ซึ่งการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว นิสิตจะเป็นผู้ปฏิบัติงาน กล่าวคือ นิสิตจะเป็นผู้บรรยาย ตอบปัญหา ให้คำปรึกษาและคำแนะนำทางด้านกฎหมายแก่ประชาชน โดยมีอาจารย์ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด

2. ศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา


ผู้บริหาร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา  ศรีวนิชย์  (คณบดี)

ผู้อำนวยการ

ติดต่อ

ห้อง 805 ชั้น 8  อาคารเทพทวาราวดี
คณะนิติศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โทรศัพท์ 0-2218-2017 ต่อ 204, 0-2218-2025

วัตถุประสงค์

  1. ศึกษาวิจัยกฎหมายที่เป็นอุปสรรคหรือไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคมของประเทศตลอดจนกฎหมายที่ควรจะมีเพื่อการพัฒนา
  2. เสนอแนะและเผยแพร่ผลการศึกษาและทางแก้ไขภาพรวมและในรายละเอียดแก่หน่วยงาน ภาครัฐบาลและภาคเอกชน ตลอดจนสาธารณชนที่สนใจ
  3. เป็นศูนย์กลางแห่งความร่วมมือทางวิชาการในการศึกษาวิจัยกฎหมายและการพัฒนา ระหว่างหน่วยงานและนักวิชาการต่างประเทศและในประเทศ ทั้งในภาครัฐบาล ภาคเอกชน และระหว่างมหาวิทยาลัย
  4. เป็นศูนย์แห่งการศึกษาวิจัยเชิงสหสาขาวิชาประยุกต์ (Applied Interdisciplinary Research) ระหว่างวิชานิติศาสตร์และศาสตร์อื่น

การดำเนินงาน

ภายในศูนย์มีการแบ่งงานเป็นโครงสหสาขาวิชา เพื่อการศึกษาและวิจัยในปัญหาแต่ละด้าน ได้แก่ โครงการโครงสร้างทางกฎหมายกับการพัฒนา, โครงการกฎหมายสังคมมนุษยธรรมและแรงงาน, โครงการกฎหมายเกี่ยวกับเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ, โครงการกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาชนบท, โครงการกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันและธุรกิจการเงิน, โครงการกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร

ศูนย์ได้ดำเนินงานโดยอาศัยหลักความร่วมมือกับต่างประเทศ ภาคเอกชน ภาครัฐบาล และหน่วยงานทางวิชาการอื่น และอาศัยหลักความเป็นกลางมีลักษณะทางวิชาการสหสาขา มีความคล่องตัว เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผล